สารจากคณบดี

“Ubi societas, ibi jus” เป็นคำกล่าวภาษาลาตินซึ่งมีความหมายว่าที่ไหนมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมายซึ่งก็แน่นอนว่าเมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะในลักษณะที่ถาวรก็จะต้องมีกฎเกณฑ์ที่ถือปฏิบัติกันในสังคมนั้นๆ โดยมีบทบาทในด้านการกำหนดสิทธิ หน้าที่และความรับผิดของบุคคลที่มีต่อสังคมในแทบทุกกิจกรรม ทั้งนี้ก็เพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างปกติสุข กฎเกณฑ์ที่ว่านี้เราเรียกกันว่า “กฎหมาย”

นิติศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สามารถแบ่งออกเป็นหลายแขนงได้ตามแง่มุมที่ศึกษา เช่น วิชานิติศาสตร์โดยแท้ (legal science proper), นิติศาสตร์ทางข้อเท็จจริง (legal science of facts) และ นิติศาสตร์เชิงคุณค่า (legal science of values) และเมื่อพิจารณาประกอบกับสภาวการณ์ในปัจจุบันที่กำลังมีกระแสทางด้านการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) ตลอดจนสภาพปัญหาและผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กฎหมายจึงเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในสังคมไทยแทบทุกด้าน ทั้งในแง่ของการเกิดขึ้นขององค์กรภาครัฐ และการตรวจสอบการทำงานขององค์กรภาครัฐโดยประชาชน ตลอดจนในด้านสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดต่างๆของประชาชน จนส่งผลให้สังคมเกิดความคาดหวังในบทบาทของนักกฎหมายทั้งในแง่ของวิชาความรู้ ทักษะ และคุณธรรมในระดับที่สูงมากอย่างเด่นชัด ดังนั้น การสร้างนักกฎหมายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญควบคู่ไปกับการมีคุณธรรมสามารถออกไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อสร้างความรับรู้แก่ประชาชนว่า “ความยุติธรรมยังมีอยู่จริง” ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของผู้ผลิตนิติศาสตรบัณฑิต อันเป็นหน้าที่หลักของสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่จะต้องดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้การพัฒนาบัณฑิตของสำนักวิชานิติศาสตร์ ยังต้องพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต เช่น หน่วยงานราชการ สำนักงานทนายความ ศาลยุติธรรม มหาวิทยาลัย สำนักงานกฎหมาย สำนักงานอัยการ และองค์กรอื่นๆกฎหมายในการทำงาน เป็นต้น ดังนั้น สำนักวิชานิติศาสตร์จึงเร่งรัดในด้านของการผลิตบัณฑิตที่ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย รวมถึงความรู้ด้านภาษาอังกฤษและทักษะการใช้เทคโนโลยี เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะทักษะการใช้ข้อกฎหมาย ทักษะเฉพาะด้านที่จำเป็นในการดำเนินงาน เช่น การเขียน การพูด บุคลิกภาพ และบัณฑิตจะต้องได้รับการเตรียมความพร้อมให้เป็นบุคคลที่มีทัศนคติที่ดีในการปฏิบัติงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี และมีจิตสาธารณะ ก่อนที่จะจบการศึกษา เพื่อที่จะได้ออกไปเป็นบัณฑิตที่ทำประโยชน์ให้กับสังคมและคนรุ่นหลังสืบต่อไป

 ในด้านพัฒนาองค์กรนั้นทางสำนักวิชาจะขับเคลื่อนไปพร้อมกับการพัฒนาบุคลากรโดยส่งเสริมให้บุคลากรพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของตนเองทั้งในเรื่ององค์ความรู้ ทักษะการสอน ผลงานทางวิชาการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global and Frontier Research) เพิ่มปริมาณอาจารย์ที่มีวุฒิสูง โดยเน้นสรรหาผู้ที่มีคุณวุฒิตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด มีความสามารถในด้านการใช้ภาษาอังกฤษ มีศักยภาพในการสร้างผลงานวิชาการ มีคุณธรรม จริยธรรม และความเสียสละที่มีต่อองค์กร รวมทั้งเน้นการเชิญผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านการใช้กฏหมาย เช่น ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาในศาลจังหวัด ตุลาการจากศาลปกครอง พนักงานอัยการ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากภาคเอกชนมาเป็นอาจารย์พิเศษอีกด้วย ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่านักศึกษาของสำนักวิชาฯ จะเป็นบัณฑิตที่เก่งวิชาการและเชี่ยวชาญการปฏิบัติ ตามปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และสามารถจบออกไปทำงานได้อย่างมีคุณภาพ 

นอกจากนี้นักศึกษาของสำนักวิชานิติศาสตร์จะได้มีการพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษ โดยมีการอ้างอิงตัวบทกฎหมายภาษาอังกฤษ บทความ เนื้อหาอื่นๆแทรกตลอดช่วงการเรียนในหลักสูตร ประกอบกับการเรียนการสอนแบบ Active Learning ตามแนวการสอนมาตรฐานจากประเทศอังกฤษ (UKPSF) ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ใช้อยู่ จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนกับผู้สอนมีกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ของนักศึกษาในทุกชั้นปี ย่อมจะสร้างความมั่นใจให้แก่นักศึกษาในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง เพื่อที่จะเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เป็นบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติต่อไป 

และขอฝากถึงนักศึกษาสำนักวิชานิติศาสตร์ทุกคนว่าสิ่งที่ผู้เรียนวิชากฎหมายจะต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า การศึกษาวิชานิติศาสตร์นั้นจะต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อก้าวเข้าสู่การทำงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นที่พึ่งพาและช่วยเหลือบุคคลในสังคมให้ได้รับความเป็นธรรม เป็นทั้งผู้รักษาและผู้ใช้กฎหมาย ตลอดจนเป็นผู้ที่ต้องทำให้ประชาชนเชื่อว่าความยุติธรรมยังมีอยู่จริง จึงจำต้องมีความตระหนักถึงบทบาท หน้าที่ของตนเอง พัฒนาจิตใจให้มั่นคงเข้มแข็ง เคารพและให้เกียรติในสิทธิของผู้อื่น ค้นคว้าศึกษา อ่านหนังสือเพื่อเพิ่มเติมความรู้ของตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ซึ่งเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน จะต้องมีความสามารถในการคิดในเชิงพัฒนาต่อยอดและสร้างสรรค์โดยมีอาจารย์ช่วยชี้แนะ มีการตั้งคำถามในประเด็นที่ศึกษา แสดงความคิดเห็นได้โดยไม่กลัวจะเสียหน้า ต้องกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าที่จะแตกต่างภายใต้กฎระเบียบและความอ่อนน้อมถ่อมตน มีมุมมองในเชิงบวกมีเหตุผลปราศจากอคติ เข้าใจและยอมรับสภาพของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมีสติหากจะต้องปฏิบัติสิ่งใดที่แตกต่างไปจากผู้อื่นจะต้องแน่ใจว่าเมื่อปฏิบัติแล้วจะเกิดประโยชน์กับตนเองและสังคม

ด้านทักษะวิชาที่นักศึกษาทุกท่านจะต้องมี คือ การกล้าแสดงออก หมั่นเรียนรู้ด้วยตนเอง ฝึกหัดวิเคราะห์โดยใช้หลักการของกฎหมาย มีเหตุและผล ฝึกการใช้ดุลนินิจโดยปราศจากอคติในแก้ปัญหา พัฒนาทักษะการเขียนด้วยภาษากฎหมาย โดยศึกษาค้นคว้าตัวอย่างจากคำวินิจฉัยของศาลหรือคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลัก รู้จักแยกแยะข้อเท็จจริง คิดวิเคราะห์ตามหลักฐานที่พิสูจน์โดยปราศจากอคติและอารมณ์ นอกจากนี้นักศึกษาจะต้องพัฒนาบุคลิกภาพ การวางตัวที่เหมาะสม มีคุณธรรมมีอุดมการณ์ที่ชัดเจน และอย่าลืมว่าในการที่จะเป็นนักกฎหมายที่ดี มีคุณภาพอันจะนำไปสู่การเป็นที่พึ่งของสังคมนั้น นักศึกษาจะต้องมีการพัฒนาทักษะอื่นๆ เช่น ภาษาต่างประเทศ การคิดเชิงตรรกศาสตร์ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการมีความใฝ่รู้ในสิ่งใหม่ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ทางสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรทุกท่าน จะมีความสุขกับการทำงานและใช้ชีวิตภายในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และมีความพร้อมในทุกด้าน มีสุขภาพจิตที่ดี มีทักษะและความรู้ความสามารถ มีความเข้มแข็งและพร้อมจะที่นำพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย คือ สร้างงานพลังองค์กรให้เป็นองค์การธรรมรัฐ เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นหลักในถิ่น และเป็นเลิศสู่สากล เพื่อให้ประชาชนยอมรับว่านิติศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นสถาบันผู้ซึ่งสร้างและผลิตบัณฑิตทางด้านกฎหมายมาเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่สังคมสืบไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิจิตรา เพ็ชรกิจ
รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชานิติศาสตร์