ความเป็นมาของสำนักวิชานิติศาสตร์

     เดิมมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้การเรียนการสอนหลักสูตรนิติศาสตร์ ในสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นแนวทางที่จัดทำขึ้นตามบันทึกจากอาจารย์ ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ เรื่อง ขอความร่วมมือในการจัดทำโครงการ “จัดตั้งสำนักวิชาใหม่” ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองแนวนโยบายของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในส่วนของการผลิตบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของสังคมและเพื่อการเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบตามเป้าประสงค์ดั้งเดิมของมหาวิทยาลัย การจัดตั้งสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ เป็นแนวทางที่จัดทำขึ้นตามกรอบแนวคิดการพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (พ.ศ. ๒๕๕๔-๒๕๕๘) หัวข้อที่ ๒.๒ ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักวิชาใหม่ซึ่งให้มีสำนักวิชาทางด้านสังคมศาสตร์หรือการเมืองการปกครอง

         ภายหลังจากการจัดตั้งสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีหนังสือถึงสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาที่ ศธ ๕๗ ๓๓ ๐๐/๗๑๐๖  ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ เพื่อขอให้มีการพิจารณาเทียบมาตรฐานการศึกษา เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนิติศาสตร์สมัครเข้าเป็นนักศึกษาสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาได้ ตามข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๐๗ ข้อ ๕๖ (๒) จนในที่สุดคณะกรรมการอำนวยการอบรมศึกษากฎหมายสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาพิจารณาแล้วมีมติในการประชุม ครั้งที่ ๓๙๘ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ให้การรับรองมาตรฐานการศึกษาผู้สอบไล่ได้ปริญญาตรีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เทียบได้ไม่ต่ำกว่าวิทยฐานะผู้สอบไล่ได้ปริญญาตรีนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๐๗ ข้อ ๕๖ (๒)

       ด้วยศักยภาพและความพร้อมในทุกด้านของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประกอบกับกระแสตอบรับจากผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตร์มีมากมาย ทำให้ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ซึ่งมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในเชิงพัฒนาและบริหารจึงเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาให้แยกหลักสูตรนิติศาสตร์ออกจากสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ และให้เรียกชื่อว่า “สำนักวิชานิติศาสตร์”

       ฉะนั้น เพื่อประโยชน์ในการบริหาร การจัดการศึกษา การวิจัย และการบริการทางวิชาการและการทะนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม สภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ วรรคหนึ่งและมาตรา ๑๖(๒),(๔) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ.๒๕๓๕ ประกอบกับมติของสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ออกข้อกฎหนดมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักวิชา สถาบัน ศูนย์ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น พ.ศ.๒๕๖๕ โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เป็นต้นไป เพื่อให้จัดตั้งสำนักวิชานิติศาสตร์ (ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๕) จวบจนปัจจุบัน